ศรีสะเกษจัดตั้ง “สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ” ร่วมขับเคลื่อน SDGsPGS
เขียนโดย : อนุรักษ์ เรืองรอบ
ศรีสะเกษประชุมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์คึกคัก 300 คน และจัดตั้ง
“สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ” ร่วมขับเคลื่อน SDGsPGS
วันที่ 14 มกราคม 2562 ณ หอประชุมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ศรีสะเกษ นายนพ พงศ์พลาดิสัย ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา "การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมภายใต้แบรนต์ SDGsPGS มุ่งสร้างกลไก การตลาดนำการผลิตเกษตรอินทรีย์ แบบครบวงจร" จัดโดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย โดยมีเกษตรกรหัวใจอินทรีย์ จากทั่วจังหวัดศรีสะเกษร่วมเวทีจำนวน 300 คน โดยมีทีมงานคนกล้าคืนถิ่น นำผลิตภัณฑ์แปรรูปของชุมชนมาร่วมแสดงและจำหน่ายด้วย
นายอรัญ สิงห์คำ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ประธานจัดงาน "เขย่าทัศน์" ในครั้งนี้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า 1) เพื่อปลุกเร้าให้เกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษ ได้ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรเคมีมาทำเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารพิษ ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์จังหวัดศรีสะเกษ 2)เพื่อนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สามารถประเมินผลได้อย่างเป็นระบบ โดยการนำระบบฐานข้อมูลมาร่วมสนับสนุนกลไกในการปฏิบัติงานแบบมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาสังคม 3) เพื่อเร่งสร้าง "คณะทำงานตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์จังหวัดศรีสะเกษ" ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว และเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร 4) เพื่อร่วมกันจัดตั้ง "บริษัทออร์แกนิคศรีสะเกษ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด" ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการทำธุรกิจ การผลิต การตลาด การเงินและการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และ 5) เพื่อจัดตั้ง "สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ" ให้เป็นองค์กรในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน พัฒนามาตรฐาน SDGsPGS ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายและภาคีเครือข่ายร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย
นายนพ พงศ์ผลาดิสัย ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวความรู้สึกดีใจที่เห็นการรวมตัวกันของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ศรีสะเกษในการลุกขึ้นมาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม จะได้ร่วมกันทั้งภาครัฐภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์สู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น ประชาชนได้ประโยชน์เร็วขึ้น และเป็นการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สามารถตรวจสอบได้จากระบบฐานข้อมูล มีคณะทำงานที่รับผิดชอบชัดเจน มีองค์กรระดับระดับประเทศ ร่วมดูแลแนะนำ ทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติ และกล่าวว่าจังหวัดศรีสะเกษมียุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ คือ การเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้พึ่งตนเองและแข่งขันได้ มุ่งเน้นให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น มีศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ จะทำให้ศรีสะเกษเป็น "เมืองน่าอยู่ ประตูการค้า การท่องเที่ยวอารยธรรมขอมโบราณ เป็นเลิศด้านกีฬา นำสินค้าเกษตรมาตรฐานและปลอดภัยสู่ครัวโลก"
ในช่วงของการเสวนาดำเนินการโดยอาจารย์พรสวรรค์ สัมนา จากภาควิชาบริหารธุรกิจ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ มีวิทยากรหลายท่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้แก่
1) นายสมชาย เชื้อจีน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเกษตรภูสิงห์ พร้อมหนุนการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ และได้พูดถึงเหตุผลที่เกษตรกรควรปรับเปลี่ยนสู่เกษตรอินทรีย์เพราะสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้จริง ทั้งต้นทุนในการผลิต ต้นทุนชีวิต ต้นทุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยได้เล่าประสบการณ์ในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2542 และกล่าวว่าเกษตรกรไม่ควรทำเกษตรอินทรีย์ด้วยความโลภ เพราะอาจโดนหลอกโดยกลุ่มมิจฉาชีพได้
2) นายบรรเจิด เดชาศิลปชัยกุล ตัวแทนสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวถึงนโยบายของหน่วยงานในการ "ส่งเสริม ป้องกัน รักษาและคุ้มครองผู้บริโภค" และพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ โดยโรงพยาบาลพร้อมซื้อผลผลิตเข้าปรุงอาหารสำหรับผุ้ป่วย พร้อมจัดสถานที่ให้ขายผลผลิต และพร้อมสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานอาหารและยา และโรงบรรจุและตัดแต่งที่ได้มาตรฐาน
3) นางสาวจุไรรัตน์ ศรีตระกูล พาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนตลาดเกษตรอินทรีย์ในการผลักดัน "ศรีสะเกษเดินหน้าเกษตรอินทรีย์สู่ครัวโลก" หากเกษตรกรมีการจับมือเดินด้วยกัน การเชื่อมโยงตลาด จะทำได้ไม่ยาก ทั้งตลาดในระดับชุมชน การตั้งร้านค้าผลผลิตเกษตรอินทรีย์ (Farm Outlet) กลุ่มผู้ซื้อสถาบัน กลุ่มผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับการขับเคลื่อนเมืองกีฬา (Sport City) ตลอดจนการเชื่อมโยงเข้าสู่ห้างค้าปลีกเช่น Tops market เป็นต้น
4) ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ รองประธานบริษัทประชารัฐรักสามัคคีศรีสะเกษ วิสาหกิจเพื่อสังคม ได้เล่าถึงความสำเร็จที่บริษัทฯ ได้ร่วมขับเคลื่อนการตลาด "ทุเรียนภูเขาไฟ" ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และได้ฉายโอกาสทางการตลาดของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ซึ่งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีพร้อมร่วมขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ และกล่าวว่าโครงการ Sport City จะสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมๆกับการขับเคลื่อนมหานครอินทรีย์ศรีสะเกษ
5) ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ได้เล่าถึงที่มาของการขับเคลื่อนการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยใช้ประเด็นเกษตรอินทรีย์ และเครื่องมือพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS (Sustainable Development Goals Participatory Guarantee System) ซึ่งเชื่อมโยงยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนชาติ ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยสหประชาชาติ ในการพัฒนาและเชื่อมโยงให้เกิดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เกิดการจัดตั้งกลไก สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนระดับจังหวัดและการรวมกันตั้งเป็นสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย
6) นายจำนงค์ ทองกลม หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ผู้แทนเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ศรีสะเกษมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 300,000 ไร่ในปี 2564 ตามที่ได้ลงนามความร่วมมือไว้กับ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีต้นทุนอยู่แล้ว 110,000 ไร่ และกำลังเดินหน้าพัฒนาเพิ่มอีก 190,000 ไร่ และได้กล่าวว่า เกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ มีความตื่นตัวมากในการเข้าร่วมในโครงการนี้ โดยในปี 2562 มีเกษตรกรยื่นความจำนงพร้อมขับเคลื่อนข้าวอินทรีย์มากถึง 90,000 ไร่ ในขณะที่มีข้อจำกัดที่ทางกระทรวงฯ สามารถจัดสรรงบประมาณให้ขับเคลื่อนในปีนี้ได้เพียง 15,000 ไร่ โดยจะต้องมีการจัดหางบประมาณมาขับเคลื่อนพื้นที่ 75,000 ไร่ ทีพี่น้องเกษตรกรตรกรได้แสดงความจำนงไว้แล้วต่อไป
ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ เลขาธิการ สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอในช่วงบ่ายถึงโมเดลการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงห่วงโซ่ทั้งตั้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยควรมีการจัดตั้งสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ เพื่อเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดศรีสะเกษ โดยการจัดบรมรมผู้ตรวจแปลง เกิดกลไกผู้ตรวจแปลง กลไกฐานข้อมูล กลไกคณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดศรีสะเกษและกลไกธุรกิจในรูปวิสาหกิจเพื่อสังคม "บริษัทออร์แกนิคศรีสะเกษ วิสาหกิจเพื่อสังคม" ในการบริหารตั้งแต่การผลิต การจัดการผลิต และการทำตลาด โดยกลไกทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งและขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน โดยหลังจากที่นำเสนอโมเดลและเปิดโอกาสให้พี่น้องเกษตรกรได้ถามตอบกันอย่างทั่วถึงแล้ว มีแกนนำเกษตรกรที่ลงชื่ออาสาเป็นผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดมาร่วมขับเคลื่อน SDGsPGS ศรีสะเกษ จำนวน 30 คนโดยมีนายสุธรรม ป้องกัน อาสาเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อน เป็นประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ โดยท่านเป็นตัวหลักในการประสานงานจัดเวทีครั้งนี้
นายสุธรรม ป้องกัน ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนเองมีอายุมากแล้ว แต่ก็อยากสร้างสิ่งดีๆเพื่อสังคมตราบเท่าที่ยังมีแรง ยังมีลมหายใจอยู่ และเห็นว่าจังหวัดศรีสะเกษ มีศักยภาพ และควรได้รับการผลักดัน พัฒนาให้เป็น "มหานครเกษตรอินทรีย์" ได้จึงอาสาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนและบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนร่วมกัน และรู้สึกยินดีมากที่ได้เห็นพี่น้องเกษตรกรและภาคีหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมงานในวันนี้สูงถึง 300 คน และขอแสดงความขอบคุณนายอรัญ สิงห์คำ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ประธานจัดงาน "เขย่าทัศน์" ในครั้งนี้ และท่านได้อาสาที่จะเป็นประธานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดศรีสะเกษอีกด้วย โดยจังหวะก้าวต่อไปคือประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ จะดำเนินการจัดตั้งทีมงานสมาพันธ์ฯ ให้แล้วเสร็จและเดินหน้าจัดการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน 2562 ต่อไป
//รายงานโดย ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ เลขาธิการสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นายสุธรรม ป้องกัน 0898444896