ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ มอบวุฒิบัตรในพิธีปิดการอบรมหลักสูตรผู้นำตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ศรีสะเกษ
วันที่ 30-31 มีนาคม 2561 ณ หอประชุมศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านตะแบงใต้ ตำบลห้วยตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ภาคี 4 องค์กรได้แก่ ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ และสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ ได้ร่วมกันจัดอบรมเกษตรกรหลักสูตรผู้ตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS โดยมีเกษตรกรทั้งจังหวัด
ศรีสะเกษเข้าร่วมจำนวน 152 คน SDGsPGS (Sustainable Development Goals Participatory Guarantee System) เป็นการนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางของรัฐบาลไทยและสหประชาชาติมาผสมผสานกับแนวคิดเรื่องการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม โดยมีสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศนายสมชาย เชื้อจีน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แสดงความยินดีที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษได้สละเวลามาเป็นเกียรติในโครงการเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงตามศาสตร์พระราชา อบรมพัฒนาผู้นำตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ศรีสะเกษ ซึงจัดขึ้นเพื่อพัฒนาผู้ตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ให้มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม เชื่อมโยงตลาดเกษตรอินทรีย์ และเพื่อพัฒนากลไกการขับเคลื่อนที่เชื่อมโยงทั้งห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ช่วยเกษตรกรให้มีเศรษฐกิจที่ดี ปลอดจากหนี้สิน เป็นการปรับเปลี่ยนสู่วิถีการผลิตที่ยั่งยืน
นายวีรศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ แสดงความรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้พบกับพี่น้องเกษตรกรหัวใจอินทรีย์ ขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมกันจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้ โดยท่านเห็นด้วยอย่างยิ่งในกระบวนการนำการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) มาใช้ขับเคลื่อนในจังหวัดศรีสะเกษ การตรวจและรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์มีความสำคัญซึ่งเกษตรกรต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อผู้บริโภค ต้องทำให้ได้จริงๆ ต้องร่วมกันพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกให้ได้สมความต้ังใจของรัฐบาลและของทุกคน ยินดีที่มีเกษตรกรต้องการสมัครรับการอบรบและทำการตรวจแปลงเกินความคาดหมาย และในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดก็พร้อมสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ แต่อยากให้ทำทันที คิดแล้วทำเลย ไม่ใช่คิดแล้วค่อยๆบรรจุลงในแผน 5 ปีแล้วค่อยทำ เพราะจะไม่ทันการ
นายสุธรรม ป้องกัน ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ กล่าวว่า "อัตลักษณ์ของพี่น้องวิถีอินทรีย์คือ คุณธรรมนำคุณภาพ" ท่านแสดงความขอบคุณ ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้ร่วมสนับสนุนให้เกิดการอบรมในครั้งนี้ ในส่วนของสมาพันธ์ฯ เองได้มีการจัดโครงสร้างคณะทำงานครอบคลุมทั้ง 22 อำเภอ มีการจัดกลไกคณะทำงานตรวจแปลง คณะทำงานพัฒนาฐานข้อมูล และคณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดศรีสะเกษแล้ว โดยมีท่านอรัญ สิงห์คำ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษเป็นประธาน ส่วนกลไกธุรกิจจะได้มีการดำเนินการจัดตั้งบริษัทออร์แกนิคศรีสะเกษ วิสาหกิจเพื่อสังคมทำหน้าที่ในการบริหารจัดการผลผลิตจากเกษตรกรในเครือข่ายต่อไป ทั้งนี้การเตินหน้าตรวจแปลงจะมีการจัดทีมลงทำงานทันที โดยมีเป้าหมายให้สามารถจัดประชุมรับรองแปลงครั้งแรกภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2562
นายเชษฐา สุขประเสริฐ ประธานสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ เลขาธิการ สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย นายเอกพงษ์ มุสิกะเจริญ จากสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นทีมวิทยากร ได้ร่วมแสดงความยินดีและให้กำลังใจกับสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ ถึงความคืบหน้าในการจัดฝึกอบรมผู้ตรวจแปลงและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีพลังโดยมีพี่น้องเกษตรกรตื่นตัวเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
#สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ
//รายงานโดย ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ เลขาธิการ สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย