สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ ประชุมรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ครั้งที่ 1/2562 จำนวน 122 แปลง เนื้อที่ 1,232.86 ไร



          วันที่ 17 มิถุนายน  2562 เวลา 09.30 - 20.00 น. ณ ห้องประชุมตึกอำนวยการ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ นายสมาน ศรีสุข รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ศรีสะเกษ ครั้งที่ 1/2562 และเป็นครั้งแรกในจังหวัดศรีสะเกษ ที่ประชุมมีมติรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์จำนวน 64 แปลง เนื้อที่ 657.20 ไร่ แปลงระยะปรับเปลี่ยนสู่อินทรีย์จำนวน 58 แปลง เนื้อที่ 575.66 ไร่ รวมทั้งสิ้น 122 แปลง 1,232.86 ไร่ และยังมีแปลงที่ยังไม่ผ่านการกลั่นกรองเพื่อเข้ารับการรับรองในครั้งนี้จำนวน 52 แปลง เนื้อที่ 517.24 ไร่ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงข้อมูลให้สมบูรณ์และสามารถนำเข้าสู่การประชุมรับรองครั้งต่อไป




          คณะทำงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ศรีสะเกษ ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  โดยคำสั่งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรระดับจังหวัด จังหวัดศรีสะเกษ ที่ 5/2562 เมื่อวันที่  14 มิถุนายน 2562 ซึ่งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานรวม 7 คณะ ได้แก่ 1)คณะที่ปรึกษาเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ศรีสะเกษ 2)คณะทำงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ศรีสะเกษ 3)คณะทำงานบริหารสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ 4)คณะทำงานบริหารสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนระดับอำเภอ 5)คณะทำงานตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ศรีสะเกษ 6)คณะทำงานบริการจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 7)คณะทำงานวิจัยและพัฒนาและประเมินผล โดยคณะทำงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ศรีสะเกษ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษเป็นประธานคณะทำงาน มีคณะทำงานจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชนรวม 21 คน โดยมีนายสุธรรม ป้องกัน ประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษเป็นคณะทำงานและเลขานุการ



          กระบวนการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS เป็นการรับรอง 3 ระดับชั้น และใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศควบคุมทั้งกระบวนการ โดยชั้นแรก ผู้ตรวจแปลงจำนวน 2-5 คน ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจแปลง เก็บข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลแปลง และข้อมูลเพื่อการรับรอง และมีมติร่วมกันว่าผ่านเงื่อนไข SDGsPGS ทั้ง 22 ข้อ ถึงจะนำเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป



         ข้อมูลการตรวจแปลง จะถูกนำเข้าสู่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ซึ่งพัฒนาโดยนายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ นักวิทยาศาสตร์จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จากนั้นในชั้นที่  2 คณะทำงานกลั่นกรองโดยสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ จะทำการประชุมกลั่นกรองแปลงที่ขอรับรองทั้งหมดและมีมติผ่านการกลั่นกรองเป็นอินทรีย์ ผ่านการกลั่นกรองเป็นระยะปรับเปลี่ยนสู่อินทรีย์ หรือไม่ผ่านการกลั่นกรอง ก่อนที่จะนำผลของแปลงที่ผ่านการกลั่นกรองสู่การประชุมรับรองระดับจังหวัดในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลจากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และกดปุ่มรับรองในระบบ


     
            โดยมีแปลงที่ได้รับการรับรองแปลงแรกของนางสาวกุสุมา ไชยกิติ ซึ่งทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ครั้งคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่ปี 2524 ในเครือข่ายศีรษะอโศก ซึ่งมีแปลงที่ได้รับการการรับรองเป็นอินทรีย์ในรอบนี้จำนวน 20 แปลง



# สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ
# รายงานโดย ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ เลขาธิการ สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย