#สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ ได้จัดอบรมผู้ตรวจประเมินแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ระหว่างวันที่ 20 - 25 ตุลาคม 2563 ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ต.หนองไผ่ อ.เมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด จำนวน 209 คน
SDGsPGS (Sustainable Development Goals Participatory Guarantee System) เป็นการนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางของรัฐบาลไทยและสหประชาชาติมาผสมผสานกับแนวคิดเรื่องการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม โดยมีสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ตามเป้าหมายยุทธ์ศาสตร์จังหวัดศรีสะเกษ 2) เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันแบบประชารัฐ ในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง 3) เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูล ในการรวบรวมผลผลิตเพื่อส่งต่อไปยังตลาด และระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วย QR Code เป็นต้น 4) เพื่อปรับเปลี่ยนเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืน อันประกอบด้วย เกษตรอินทรีย์, เกษตรธรรมชาติ, เกษตรผสมผสาน, วนเกษตร, และเกษตรทฤษฎีใหม่นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิดอบรมฯ และให้โอวาทแก่ผู้เข้าร่วมอบรม ท่านติดตามผลการดำเนินงานของสมาพันธ์ฯ มาโดยตลอด ท่านให้ความสำคัญและสนับสนุนเกษตรกรผลิตอาหารปลอดภัยเป็นอย่างมาก ตามวิสัยทัศน์จังหวัดศรีสะเกษกับการพัฒนายุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ " ประตูการค้า การท่องเที่ยว สู่อารยธรรมขอมโบราณ ดินแดนเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐาน " และท่านรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้พบกับพี่น้องเกษตรกรหัวใจอินทรีย์ ขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมกันจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้ โดยท่านเห็นด้วยอย่างยิ่งในกระบวนการนำการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) มาใช้ขับเคลื่อนในจังหวัดศรีสะเกษ การตรวจและรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์มีความสำคัญซึ่งเกษตรกรต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อผู้บริโภค ต้องทำให้ได้จริงๆ ต้องร่วมกันพัฒนาให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นดินแดนเกษตรอินทรีย์ที่มีมาตรฐาน สมความต้ังใจของยุทธศาสตร์ชาติและของทุกคน ยินดีที่มีเกษตรกรต้องการสมัครรับการอบรบและทำการตรวจแปลงเกินความคาดหมาย และในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดก็พร้อมสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่และเต็มกำลัง
ประธานสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย นายเชษฐา สุขประเสริฐ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรและสหกรณ์ฯ เกษตรจังหวัดฯ สภาเกษตรกรฯ และ ธกส.และอีกหลายหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนและเป็นภาคีเครือข่ายการดำเนินงาน ได้ร่วมแสดงความยินดีและให้กำลังใจ สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนศรีสะเกษ ถึงความคืบหน้าในการจัดฝึกอบรมผู้ตรวจแปลงและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีพลังโดยมีพี่น้องเกษตรกรตื่นตัวเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก และก็พร้อมสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่และเต็มกำลังด้วยเช่นกัน
📌เบื้องต้นกำหนดการลงพื้นที่ตรวจประเมินแปลงฯ ทั้งอินทรีย์ และ ระยะปรับเปลี่ยน ระดับพื้นที่ ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม 2563 - 14 พฤศจิกายน 2563
📌 และในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 เป็นการประชุมทบทวนการบันทึกฐานข้อมูลในระบบ OAN หรือ ระบบสารสนเทศเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ( Organic Agricultural Network : OAN ) ระบบทวนสอบย้อนกลับ ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ
📌 การกำหนดวันเพื่อกลั่นกรองแปลง จะกำหนดในวันประชุมทบทวนการบันทึกข้อมูล ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 การกรั่นกรองแปลงเพื่อประเมินข้อมูลแปลง ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 22 ข้อ รวมทั้งข้อมูลรูปภาพ/วีดีโอ และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการขอรับรอง ทั้งที่อยู่ในเอกสารและในระบบ OAN
📌หลังจากนั้นแปลงที่ผ่านการกลั่นกรองแล้ว จะนำข้อมูลทั้งหมดของผู้ที่ผ่านเกณฑ์ฯ แล้วเบื้องต้นจากคณะกรรมการกลั่นกรอง เข้าสู่กระบวนการรับรองแปลงระดับจังหวัด ซึ่งจะมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน เข้าร่วมพิจารณา...ให้ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ซึ่งวันกรั่นกรอง จะกำหนดภายหลังวันประชุมกรั่นกรอง
📌ซึ่งหากดูจากการพิจารณาผู้ที่จะผ่านเกณฑ์ดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบถึง 3ชั้น..จะไม่ใช่"การรับรองกันเอง" อย่างที่หลายคนพูดถึงอย่างแน่นอน เป็นเพียงกระบวนการเริ่มต้นให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องเกณฑ์การรับรองและสามารถตรวจสอบสอดส่องดูแลกันเองในพื้นที่ของชุมชน โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สามารถตรวจสอบและรายงานผลสำหรับผู้ละเมิดกฏเกณฑ์ได้ตลอดเวลา ปลูกฝังจิตสำนึกในการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นข้อดีของ การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS
📌ดังนั้น สำหรับผู้ตรวจแปลงทั้งเก่าและใหม่ จะต้องตรวจประเมินแปลงให้แล้วเสร็จ และลงข้อมูลในระบบสารสนเทศเกษตรอินทรีย์ OAN ให้เรียบร้อย ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563
รายงานโดย : นายขวัญประชา เทียมใส //กบน้อย@NewGen
ประธานคณะทำงานระบบสารสนเทศเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดศรีสะเกษ