รู้จัก โทษ ประโยชน์และสรรพคุณ "ใบกระท่อม" ที่ถูกใช้เป็นยาสมุนไพรในท้องถิ่นมายาวนาน

 รู้จักประโยชน์ของ "ใบกระท่อม" มีสรรพคุณทางยาอย่างไร?

กระท่อม (ภาษาอังกฤษ Kratom, ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna speciosa) เป็นไม้ยืนต้นที่นิยมเพาะปลูกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลายสายพันธุ์ ในประเทศไทยพบมากในพื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ป่าธรรมชาติของภาคใต้ เช่น สตูล จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง  พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส 

ส่วนใบของพืชกระท่อม หรือใบกระท่อม ถูกใช้เป็นยาสมุนไพรในท้องถิ่นมายาวนาน แต่เดิมชาวบ้านนิยมเคี้ยวใบสด หรือนำไปตำน้ำพริก เพื่อช่วยให้รู้สึกมีเรี่ยวแรงเมื่อต้องออกไปทำไร่นา เนื่องจากพืชกระท่อมจะออกฤทธิ์คล้ายกับแอมเฟตามีน กระตุ้นประสาทให้ทำงานได้มากขึ้น 

   สรรพคุณ การรักษา วิธีใช้ วิธีเพาะ ใน 20 นาที  โดย..ดร.วิเศษ สมบูรณ์

ใบกระท่อมถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในการนำพืชมาใช้รักษาอาการต่างๆ ในสมัยที่คนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ได้ โดยในปัจจุบันมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของพืชกระท่อม ที่สามารถนำมาสกัดใช้ในทางสุขภาพได้ โดยมีสรรพคุณทางยา ดังนี้
➤ รักษาโรคบิด ท้องเสีย ท้องเฟ้อ และอาการมวนท้อง
➤ บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามร่างกาย
➤ ใช้บดทำเป็นยาสมุนไพรสำหรับพอกรักษาแผล
➤ แก้นอนไม่หลับ ช่วยระงับประสาท คลายวิตกกังวล
➤ ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า รักษาระดับพลังงาน ทำงานได้นานขึ้น

โทษของใบกระท่อม และอาการข้างเคียงที่ส่งผลต่อสุขภาพ

ใบกระท่อมออกฤทธิ์ทางยาที่ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ในเบื้องต้นให้แก่ร่างกายได้ แต่หากกินในปริมาณที่มากเกินไป รวมถึงกินติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน ปัจจุบันมีข้อระวังในกลุ่มที่นำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปต้มเพื่อผสมกับเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ โดยไม่ได้มุ่งใช้ประโยชน์ในทางสรรพคุณของยา สำหรับผู้ที่กินใบกระท่อมมากเกินไป จะมีอาการข้างเคียงดังต่อไปนี้

  • ปากแห้ง
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องผูก
  • ปัสสาวะบ่อย
  • หนาวสั่น
  • นอนไม่หลับ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ผิวหนังสีเข้มขึ้น
  • ประสาทหลอน
  • หวาดระแวง



แหล่งที่มาของข้อมูล ไทยรัฐออนไลน์, ดร.วิเศษ สมบูรณ์