ปลดล็อกพืชกระท่อม ยาขยันพื้นบ้าน ปลูกกิน-ซื้อ-ขาย เสรี ไม่ผิดกฎหมาย

 24 ส.ค.2564 ประเทศไทยเริ่มมีผลบังคับใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564

ปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ทำให้ชาวบ้านทั่วไปสามารถปลูกพืชกระท่อม เอาไว้ครอบครอง และสามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบริโภคได้อย่างเสรี ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป ตามนโยบายรัฐบาลต้องการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สามารถส่งขายเชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย

นอกจากนี้ผู้ที่ถูกดำเนินคดี ในความผิดฐานครอบครองพืชกระท่อม ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 1,038 คน จะได้รับการปล่อยตัวทันที รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในชั้นตำรวจ และอัยการ ประมาณ 1 หมื่นคน จะถือว่าไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน

          แต่ยังคงมีข้อห้ามในการนำพืชกระท่อม ไปผสมกับสารเสพติดชนิดต่างๆ เช่น 4x100 ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย และหลังจากนี้จะออกพ.ร.บ.พืชกระท่อม มีบทบัญญัติเพิ่มเติม 39 มาตรา ในการกำกับดูแล อาทิ ห้ามขายให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเป็นเยาวชน รวมถึงสตรีมีครรภ์ และกำหนดสถานที่ห้ามขายในสถานศึกษา และวัด ส่วนธุรกิจส่งออก หรือนำเข้าพืชกระท่อม จะต้องขออนุญาตป.ป.ส. และการทำผลิตภัณฑ์ ต้องขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น


ก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี 2486 ในสมัยรัชกาลที่ 8 รัฐบาลได้ออกกฎหมายควบคุมพืชกระท่อม ห้ามปลูก ห้ามเสพ ห้ามขาย จะมีความผิดทางกฎหมาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าและภาษีของรัฐ เนื่องจากรัฐเป็นผู้ผูกขาดการผลิตฝิ่น ซึ่งมีราคาแพง ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น

แต่ยังคงมีคนลักลอบนำพืชกระท่อมมาใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งใบสด ใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา เพื่อลดอาการเหนื่อยล้า แก้ปวดต่างๆ และอาการทางลำไส้ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น กระทั่งมีการปลดล็อกพืชกระท่อมในที่สุด ซึ่งจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ เช่นเดียวกับกัญชา มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล.




แหล่งที่มาของข้อมูล ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th  มติชน https://www.matichon.co.th