ประชุมเชิงนโยบายเรื่อง “กระท่อม : จากยาเสพติดสู่พืชถูกกฎหมาย” เพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ณ.รัฐสภา

 


นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงนโยบายเรื่อง  “กระท่อม : จากยาเสพติดสู่พืชถูกกฎหมาย” ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  ณ อาคารรัฐสภา และผ่านช่องทางการประชุมออนไลน์ เพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการวิจัย ข้อมูล ความคิดเห็นเกี่ยวกับพืชกระท่อมและร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ....  ตลอดจนหารือถึงทิศทางการขับเคลื่อน     พืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศภายหลังการประกาศใช้กฎหมาย   โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. … สภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ….. วุฒิสภา บุคลากรจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป

 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “อนาคตพืชกระท่อม...หลัง พ.ร.บ. พืชกระท่อม” โดยกล่าวว่า ปัจจุบันพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ได้ยกเลิกพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และยกเลิกบทกำหนดความผิดทางอาญาสำหรับการครอบครอง เสพ ค้าขาย จนถึงการนำเข้าและส่งออกพืชกระท่อม ซึ่งส่งผลให้ประชาชน สามารถครอบครอง บริโภค และใช้ประโยชน์พืชกระท่อมได้มากขึ้น แต่สำหรับการปลูกและการซื้อขายพืชกระท่อมในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมนั้น ต้องมีการขออนุญาตโดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการออกกฎหมายอีก 1 ฉบับคือ “ร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …” เพื่อกำกับรายละเอียดการใช้ การขาย และการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้มีการนำกระท่อมไปใช้เป็นส่วนผสมในยาเสพติด ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรี จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ.. โดยสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 18 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ 8 กันยายน 2564 และส่งให้วุฒิสภาพิจารณา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. วุฒิสภา เพื่อเสนอต่อวุฒิสภาพิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมาย



หลังการปลดล็อกพืชกระท่อมและการที่รัฐบาลประกาศสนับสนุนพืชกระท่อมเป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงได้รับความสนใจจากเกษตรกร ประชาชน ตลอดจนแวดวงวิจัย ทั้งนี้ประเทศไทยควรยกระดับพืชกระท่อมโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มพื้นที่การปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก โดยมุ่งเน้นเป้าหมายสำคัญคือ การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชกระท่อม ที่ปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้ปลูก ครอบครัวละ 3 ต้น โดยต้นที่มีระยะเวลาปลูก 5 ปี จะมีผลผลิตเฉลี่ย 216 กิโล ต่อต้นต่อปี ราคากระท่อมในปัจจุบันอยู่ที่ กิโลละ 300 - 500 บาท โดยองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม ถือเป็นกุญแจสำคัญที่เข้ามาหนุนเสริมการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพืชกระท่อมตามนโยบายของรัฐบาล



ด้าน รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ได้กล่าวถึงทิศทางการสนับสนุนงานวิจัยเรื่องสมุนไพรรวมถึงพืชกระท่อมว่า ปัจจุบัน สกสว. ได้เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพร ภายใต้คณะกรรมการนโยบายสมุนไพร และคณะทำงานยกร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยมีการวางแผนกรอบวิจัยและแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมสมุนไพร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สมุนไพร และสร้างรายได้เพิ่มกลับไปยังเกษตรกรต้นน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในปีงบประมาณ 2563-2564 กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ภายใต้การดำเนินการของ สกสว. ได้จัดสรรการงบประมาณเพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านสมุนไพรและการพัฒนาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 700 โครงการ ภายใต้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท


ในส่วนของพืชกระท่อม รายงานวิจัยหลายฉบับชี้ให้เห็นว่ามีประโยชน์และสรรพคุณทางยามาก รัฐบาลจึงผลักดันกระท่อมให้เป็น ‘พืชเศรษฐกิจ’ ตัวใหม่เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย ในมุมมองของภาควิชาการ สกสว. มองว่าการผลักดันพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนามากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดองค์ความรู้พื้นฐานและงานวิจัยเชิงประยุกต์ของพืชกระท่อมในหลายประเด็น รวมทั้งรักษาโรคนั้นจะต้องมีการศึกษาวิจัยถึงสรรพคุณและข้อแนะนำการใช้อย่างรอบด้าน ดังนั้น งานวิจัยจึงเป็นคานงัดสำคัญในการสร้าง “การยอมรับและสร้างความมั่นใจ” เพื่อเชื่อมต่อไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามด้วยงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องสนับสนุนการวิจัยในประเด็นต่างๆ รวมถึงเรื่องพืชกระท่อม โดยพิจาณาตามลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนของประเทศบนข้อมูลที่มี โดยกำหนดกรอบการเชี่อมโยงงานวิจัยจากต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำให้ชัดเจนต่อไป



ต่อมาในวันนี้มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “มุมมองวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ และการวิจัยต่ออนาคตพืชกระท่อม” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. .... นายวิรัช พันธุมะผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์หน่วยบริหารด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ และ ผศ.ดร.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทั้ง 2 ท่านได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.). และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) โดยในเวทีเสวนา หลายภาคส่วนต่างมีจุดร่วมไปในทิศทางเดียวกันคือ หลังรัฐบาลสนับสนุนกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ มีเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อหลายประเด็น ทั้งในส่วนของกฎหมาย กฎระเบียบ การสร้างมาตรฐานตลอดกระบวนการผลิตทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปเป็นแรงผลักสำคัญ ทั้งนี้ตลอดการผลักดัน ต้องมุ่งเน้นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้เกษตรกรไทยและประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ



แหล่งที่มา MGR Online https://mgronline.com