หลายท่านอาจจะสงสัยว่าไฟเกษตรคืออะไร ต่างจากไฟฟ้าในบ้านเรือนทั่วไปหรือไม่ ซึ่งความหมายจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ให้ความหมายว่า ไฟเกษตรคือ การนำไฟฟ้ามาใช้ภายในสวนของเกษตรกรเพื่อทำการเกษตร เช่น ใช้กับเครื่องสูบน้ำ หลอดไฟต่าง ๆ เป็นต้น โดยมีหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ 9 ข้อดังนี้
- ได้รับการรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานราชการ เพื่อยืนยันตัวตนว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่หวงห้ามใดๆ ของทางราชการ
- ต้องมีเส้นทางสาธารณะที่รถยนต์สามารถวิ่งผ่านได้อย่างสะดวก
- สามารถดำเนินการก่อสร้างระบบจำหน่ายโดยวิธีปักเสาพาดสายไฟเข้าไปถึงจุดที่ขอใช้ไฟฟ้าได้
- ได้รับการรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานราชการ เพื่อยืนยันขนาดพื้นที่และชนิดของกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรที่ต้องการใช้ไฟฟ้า
- ต้องระบุแหล่งน้ำที่จะใช้เพื่อการผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ที่ขอใช้ไฟฟ้า เช่น คลองสาธารณะ คลองชลประทาน แหล่งน้ำใต้ดินในลักษณะต่างๆ
- ต้องมีเอกสาร/หลักฐานสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายของพื้นที่ทำการเกษตร แต่ต้องไม่ใช่ที่ดินที่ถือครองโดยเอกชนรายใหญ่
- เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ขอติดตั้งมิเตอร์ ขนาดไม่เกิน 15(45) แอมป์ ต่อ 1 ราย
- ต้องสามารถออกใบแจ้งหนี้ค่ากระแสไฟฟ้ามิเตอร์เครื่องที่ 2 (ใหม่) โดยจะแจ้งเก็บเงินไปที่มิเตอร์เครื่องที่ 1 (เก่า) ทั้งสองมิเตอร์ต้องอยู่ในเขตพื้นที่ของการไฟฟ้าเดียวกัน
- ค่าใช้จ่ายในการขยายเขตต่อราย เฉลี่ยไม่เกิน 50,000 บาท (PEA. รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการขยายเขต)
เอกสารที่ต้องเตรียม
- ใบรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานราชการ
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาโฉนดที่ดิน
- สำเนาบัตรประชาชน
- ค่าธรรมเนียมในการยื่นขอมิเตอร์ไฟฟ้า
- 5(15) แอมป์ ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
- 15(45) แอมป์ 1 เฟส ค่าธรรมเนียม 6,450 บาท
- 15(45) แอมป์ 3 เฟส ค่าธรรมเนียม 21,350 บาท
แต่ถ้าพื้นที่ของเรายังไม่มีอะไรเลย จะต้องทำอย่างไร? วันนี้มีขั้นตอนการขอไฟเกษตร ตั้งแต่เริ่มต้นว่ามีกระบวนการอย่างไรบ้าง ที่จะทำให้มีไฟเกษตรเข้ามาในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจ โดยมี 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
1. ขอบ้านเลขที่
การขอไฟฟ้ามาลงที่บ้านที่อยู่ในไร่นั้น จำเป็นต้องมีบ้านเลขที่ในการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า การขอบ้านเลขที่ ถ้าเป็นพื้นที่ห่างไกลหมู่บ้าน จำเป็นที่จะต้องสร้างเพิงพักหรือทำเป็นบ้านถาวรเลยก็ได้
สิ่งที่จะต้องสร้างควบคู่กับบ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ ห้องน้ำ เพราะการมีห้องน้ำจะเปรียบเสมือนจะมาอยู่ถาวร (ถึงแม้ว่ายังไม่ได้อยู่ถาวรตอนนี้เลยก็ตาม) ฉะนั้นห้องน้ำจึงมีความจำเป็นสำหรับใช้ประกอบหลักฐานในการขอบ้านเลขที่
จากนั้นจะต้องถ่ายรูปที่พักและห้องน้ำ เพื่อให้อนามัยในพื้นที่มาตรวจพร้อมกับเซ็นเอกสารรับรองการเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะ จากนั้นนำหนังสือไปยื่นกับผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้รับผิดชอบในการขอบ้านเลขที่ต่อไป
หลังจากนั้น ให้นำหนังสือรับรองจากผู้ใหญ่บ้านไปยื่นต่อที่อำเภอ เพื่อลงทะเบียนขอสำเนาทะเบียนบ้าน ตอนนี้ก็จะมีสำเนาทะเบียนบ้านพร้อมบ้านเลขที่เรียบร้อยแล้ว
ข้อควรรู้
ในการขอไฟเกษตรต้องดูแนวโน้มในพื้นที่ด้วยว่าจะมีไฟฟ้าเข้ามาด้วยหรือไม่ และต้องมีบ้านอยู่ในโซนเดียวกันตั้งแต่ 3 หลังขึ้นไป เพื่อขอไฟฟ้าถึงจะมีน้ำหนักในการขอไฟฟ้าเข้าในพื้นที่ห่างไกลชุมชน แต่ถ้าในพื้นที่มีบ้านหลังเดียวก็สามารถขอไฟฟ้าพิเศษได้ แต่ค่าไฟจะสูงกว่าปกติ
2. ยื่นเรื่องกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
นำเรื่องไปยื่นกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ของตนเอง อาจเป็น อบต. หรือเทศบาลแล้วแต่ว่าพื้นที่ของตนนั้นอยู่ในเขตไหน เจ้าหน้าที่ก็จะให้กรอกเอกสารเพื่อรับรองโดยแนบสำเนาทะเบียนบ้านของเราและเพื่อนบ้านไปพร้อมกัน
3. ยื่นเรื่องที่การไฟฟ้าในอำเภอของตนเอง
หลังจากที่ยื่นเรื่องที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเรียบร้อยแล้วก็นำเอกสารไปยื่นไว้ที่การไฟฟ้าในอำเภอของเรา แล้วกรอกเอกสารให้เรียบร้อย ซึ่งเป็นการยื่นเรื่องไว้รอครับ และอย่าลืมถามความเป็นไปได้ในการที่จะได้ไฟฟ้าเข้าในพื้นที่ด้วย แนะนำให้รวมกลุ่มกันมาก ๆ 3 หลัง 5 หลังหรือมากกว่า จะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ทางคุณแม่ผมก็ได้ยื่นเรื่องไว้ที่องค์การไฟฟ้าในอำเภอเรียบร้อยแล้ว โดยต้องรองบประมาณในรอบต่อไป
สรุปเกี่ยวกับการขอไฟเกษตรมาลงในพื้นที่
- ขอบ้านเลขที่โดยจะได้สำเนาทะเบียนบ้าน
- ยื่นเรื่องที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยรวมกันตั้งแต่ 3 หลังขึ้นไป
- ยื่นเรื่องทิ้งไว้ที่องค์การไฟฟ้าในอำเภอ รอความคืบหน้า อย่าลืมสอบถามความเป็นไปได้ที่จะมีไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่ด้วย
ทริป : ในพื้นที่นั้น ๆ จะต้องมีแนวโน้วที่จะมีไฟฟ้าเข้าถึงด้วย และ หากใครยังติดขัดลองดูเนื้อหาในรูปด้านบนได้เลย หรือโทรสอบถาม 1129 ได้เลยนะคะ
ที่มา : https://farmerspace.co/